ความปลอดภัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทุกโรงงานอุตสาหกรรมต้องมี โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับพื้นโรงงานซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่น เนื่องจากพื้นโรงงานเป็นส่วนที่จะต้องรับน้ำหนักและรองรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา การดูแลซ่อมพื้นโรงงานอย่างสม่ำเสมอจะช่วยยืดอายุการใช้งาน โดยช่วยป้องกันไม่เกิดความเสียหายรุนแรงมากไปกว่าเดิม และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในระหว่างการปฏิบัติงานได้มากยิ่งขึ้น
ความสำคัญของพื้นโรงงานที่แข็งแรงและปลอดภัย
พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้กำหนดลักษณะอาคารและลักษณะภายในโรงงานไว้อย่างละเอียด รวมถึงคุณลักษณะของพื้นโรงงานโดยระบุไว้ว่า “พื้นต้องมั่นคง แข็งแรง ไม่มีน้ำขังหรือลื่น อันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย” ดังนั้น นอกจากการคำนึงถึงความสวยงามของพื้นแล้ว พื้นโรงงานที่แข็งแรงและปลอดภัยจะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ ป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นหรือหกล้ม สามารถรับน้ำหนักบรรทุกจากการสัญจรของรถยก น้ำหนักบรรทุกกระแทก แรงกระแทกจากกิจกรรมการผลิต การสึกหรอ การสึกกร่อน การสัมผัสสารเคมี การแปรปรวนของอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน การหล่นของวัสดุที่มีน้ำหนักมากได้ เป็นต้น
ผลกระทบจากพื้นโรงงานที่ชำรุด
การรับน้ำหนัก การลาก การติดตั้งเครื่องจักร และการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในโรงงานล้วนเป็นสาเหตุการเกิดแรงกระทำต่อผิวพื้นโรงงาน ทำให้พื้นโรงงานชำรุดหรือเสียหาย จนนำไปสู่อุบัติเหตุภายในโรงงานที่ส่งผลกระทบต่อพนักงานทั้งการได้รับบาดเจ็บ สูญเสียรายได้ สูญเสียความสามารถในการทำงาน สูญเสียอวัยวะ ไปจนถึงสูญเสียชีวิต และยังส่งผลต่อเจ้าของโรงงานในแง่ของการสูญเสียทรัพย์สิน ส่งผลต่อชื่อเสียงของธุรกิจ การหยุดชะงักของการผลิต และการถูกดำเนินคดีได้ การซ่อมพื้นโรงงานให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอจึงเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยที่จะช่วยป้องกันอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน
ประเภทของปัญหาพื้นโรงงาน
ปัญหาหรือความเสียหายของพื้นโรงงานเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การออกแบบและการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน การเลือกใช้พื้นผิวไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้งานจริง การลดคุณภาพวัสดุก่อสร้าง การสัมผัสกับสารเคมี ตลอดจนแรงกระทำต่อพื้นผิวเมื่อมีการใช้งานเป็นเวลานาน โดยปัญหาพื้นโรงงานที่พบบ่อย ได้แก่
![](https://static.wixstatic.com/media/13d1dc_6ccc6de7ab954b0aab0a1502ad5ba054~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_464,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/13d1dc_6ccc6de7ab954b0aab0a1502ad5ba054~mv2.jpg)
รอยแตกและรอยร้าว
รอยแตกและรอยร้าวเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในโรงงานทุกประเภท เนื่องจากพื้นโรงงานมักเทด้วยคอนกรีต ซึ่งคอนกรีตอาจหดตัวหรือขยายตัวได้ตามสภาพแวดล้อมและอากาศภายนอกเนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุที่มีรูพรุน ทำให้เกิดรอยแตกและรอยร้าวได้ง่าย นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการใช้ปูนหรือขั้นตอนการผสมปูนที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงปัญหาพื้นดินทรุดตัวก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นโรงงานเกิดรอยแตกและรอยร้าว โดยเฉพาะจุดที่ต้องรองรับน้ำหนักมาก
การสึกหรอและการเสียหายจากการใช้งานหนัก
พื้นโรงงานเป็นส่วนที่ต้องรองรับน้ำหนักและการใช้งานโดยตรง ทั้งจากการเคลื่อนย้ายสินค้าหนัก กิจกรรมการผลิต ความเสียหายจากเครื่องจักรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากหล่นลงบนพื้น การสั่นสะเทือนของเครื่องจักร เป็นต้น เมื่อผ่านการใช้งานมาได้สักระยะจึงหมดอายุการใช้งาน เกิดปัญหาการสึกหรอและเกิดความเสียหายได้
พื้นยุบและเป็นหลุม
พื้นโรงงานที่ยุบและเป็นหลุมเกิดจากการทรุดตัวของพื้นคอนกรีต ซึ่งอาจมีสาเหตุจากขั้นตอนการบดอัดดินในขณะก่อสร้าง การมีน้ำในชั้นดิน ทำให้ชั้นดินทรุดตัว หรือเกิดจากแรงกระทำจากภายนอก เช่น การเดินเครื่องจักร การรองรับเครื่องจักรที่มีน้ำหนักมากเป็นเวลานาน ซึ่งพื้นคอนกรีตที่ทรุดตัวจะส่งผลกระทบต่อการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้พื้นโรงงานเสียหาย ยุบตัว พื้นปูนเก่าหลุดร่อน กะเทาะเป็นหลุมเป็นบ่อ เพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
การเสียหายจากสารเคมีและน้ำมัน
ธุรกิจการผลิต เช่น โรงงานผลิตสารเคมี โรงงานผลิตวัตถุดิบเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตเคมี โรงงานผลิตสี โรงงานผลิตน้ำยา โรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น มักจะมีการใช้งานเครื่องจักร สารเคมี และอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต รวมถึงไขมัน น้ำมันร้อน น้ำตาล สารละลาย หรือกรด เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการกัดกร่อนพื้นโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขาดการทำความสะอาดที่ถูกวิธี
ขั้นตอนการให้บริการซ่อมพื้นโรงงาน
การซ่อมพื้นโรงงานเป็นกระบวนการสำคัญที่ประกอบด้วยหลายขั้นตอนเพื่อให้สามารถซ่อมพื้นโรงงานให้มีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย และสามารถรองรับการดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
การตรวจสอบเบื้องต้นและการประเมินสถานะพื้น
ขั้นตอนแรกของการซ่อมพื้นโรงงานจะเป็นการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น พื้นแตกร้าว พื้นยุบเป็นหลุม พื้นไม่ได้ระดับ พื้นหลุดร่อน ฯลฯ ในขั้นตอนนี้จะเป็นการประเมินลักษณะปัญหาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการซ่อมพื้นโรงงาน จากนั้นจะเป็นการประเมินสถานะพื้นโรงงานว่ายังมีโครงสร้างที่มั่นคงหรือไม่ มีปัญหาการผุกร่อนหรือไม่ เป็นพื้นปูนเก่าหรือปูนใหม่ ระบบเคลือบยังดีอยู่หรือไม่ มีปัญหาลุกลามรุนแรงหรือไม่เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาต่อไป
การเสนอแผนการซ่อมแซมและการประเมินค่าใช้จ่าย
เมื่อทราบถึงปัญหาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจะนำเสนอวิธีซ่อมพื้นโรงงานที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นนำเสนอแผนการซ่อมพื้นโรงงานอย่างละเอียดตั้งแต่การเตรียมพื้นผิว การดำเนินการซ่อมพื้นโรงงาน การเคลือบผิวหรือทำระบบกันซึมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยจะมีการประเมินค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ต้องใช้ในการซ่อมพื้นโรงงานเพื่อนำเสนอต่อผู้ประกอบการเพื่อพิจารณาใช้บริการซ่อมพื้นโรงงาน
การเตรียมพื้นที่และการดำเนินการซ่อมแซม
ก่อนเริ่มดำเนินการซ่อมแซม ผู้เชี่ยวชาญจะทำการเตรียมพื้นที่ ได้แก่ การทำความสะอาดพื้นให้ปราศจากฝุ่น เศษปูน น้ำมัน สารเคมี และเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมพื้นผิว โดยมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับสภาพความเสียหาย เช่น การรื้อสกัดหน้าผิวเดิม การปรับผิว การเติมเนื้อคอนกรีต การเทปูนปรับระดับ การซ่อมผิวหน้าคอนกรีตที่มีรอยร้าว เป็นต้น ขั้นตอนนี้อาจรวมถึงการซ่อมพื้นโรงงานและเคลือบพื้นผิวคอนกรีตด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น อิพ็อกซี่ (Epoxy Resin) พียู (Polyurethane) อิพ็อกซี่ต้านไฟฟ้าสถิต (Anti-Static Floor) อิพ็อกซี่ทนเคมี (Chemical-Resistant Epoxy) พื้นอีพ็อกซี่กันลื่น (Non-slip Epoxy) ฯลฯ ไปจนถึงการทำระบบกันซึมเพื่อป้องกันการรั่วซึมในอนาคต
การตรวจสอบคุณภาพหลังการซ่อมแซม
หลังจากดำเนินการซ่อมพื้นโรงงานเรียบร้อยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจะเข้าตรวจสอบคุณภาพผลงานที่หน้างานอีกครั้งเพื่อดูว่าการดำเนินงานมีความเรียบร้อยหรือไม่ สอดคล้องกับคุณลักษณะที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากพบข้อบกพร่อง ผู้ให้บริการจะแก้ไขปัญหาจนกว่าพื้นโรงงานจะสามารถใช้งานได้ตามปกติโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
การแนะนำการดูแลรักษาและการป้องกันปัญหาในอนาคต
เมื่อซ่อมพื้นโรงงานและดำเนินการตรวจสอบคุณภาพหลังการซ่อมพื้นโรงงานเรียบร้อยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพื้นเพื่อยืดอายุการใช้งานและวิธีป้องกันปัญหาที่อาจขึ้นในอนาคตจากการใช้งาน การสัมผัสกับน้ำมันหรือสารเคมี รวมถึงการสัญจรไปมา เช่น การใช้น้ำยาทำความสะอาดที่เหมาะกับพื้นแต่ละประเภท สารเคมีที่ควรหลีกเลี่ยง วิธีการบำรุงรักษารายวัน รายเดือน และรายปี การซ่อมแซมรอยขีดข่วน เป็นต้น
ประโยชน์ของการซ่อมพื้นโรงงาน
![](https://static.wixstatic.com/media/13d1dc_76c7ace8515843f28bb96f82ef1b1011~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_654,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/13d1dc_76c7ace8515843f28bb96f82ef1b1011~mv2.jpg)
การซ่อมพื้นโรงงานเป็นการลงทุนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ความเสียหาย และการสูญเสียของทั้งพนักงานและผู้ประกอบการ โดยนอกจากจะเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรในด้านความปลอดภัยและการดูแลพนักงานแล้ว ยังส่งเสริมให้การดำเนินงานขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
การเพิ่มความปลอดภัยในที่ทำงาน
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จนั้น ผู้ประกอบการต้องให้ความใส่ใจกับการวางรากฐานของธุรกิจ โดยเฉพาะในแง่ของการวางระบบความปลอดภัยในโรงงานอย่างมีคุณภาพเพื่อช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ลดโอกาสในการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ เช่นเดียวกับการซ่อมพื้นโรงงาน ซึ่งถือเป็นส่วนที่ต้องรองรับการดำเนินกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงควรซ่อมพื้นโรงงานให้มีความปลอดภัยอยู่เสมอ
การลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
การเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งอาจนำมาซึ่งการบาดเจ็บหรือการสูญเสียชีวิตของพนักงานในสถานประกอบการ รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและการดำเนินธุรกิจโดยตรง ดังนั้น การป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจะช่วยให้พนักงานมีความปลอดภัย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของพนักงาน ทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวล
การยืดอายุการใช้งานของพื้นโรงงาน
พื้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโรงงานที่รองรับกิจกรรมต่าง ๆ มากที่สุด อีกทั้งเป็นส่วนที่เสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายจากกิจกรรมการผลิต การทำงานของเครื่องจักร ความเสี่ยงต่อการสัมผัสน้ำมันหรือสารเคมีต่าง ๆ ที่ทำลายพื้นผิว การตกหล่นของสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก รวมถึงการสัญจรและเคลื่อนย้ายสิ่งของต่าง ๆ การซ่อมพื้นโรงงานให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอจะช่วยเสริมความแข็งแรงและปลอดภัย ทำให้พื้นผิวดูสะอาด อีกทั้งช่วยยืดอายุการใช้งานของพื้นโรงงานได้ในระยะยาว
การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน
พื้นโรงงานที่มีความมั่นคง แข็งแรง ทำให้กิจกรรมการผลิตดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด ลดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่สมบูรณ์ รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุ ช่วยเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพนักงานรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจในสภาพแวดล้อมที่ทำงาน
การประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
การซ่อมพื้นโรงงานมีประโยชน์หลายประการนอกจากความสวยงาม เนื่องจากการซ่อมพื้นโรงงานเป็นการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ ช่วยลดโอกาสที่ปัญหาจะลุกลามจนต้องทำพื้นใหม่ นอกจากนี้เมื่อพื้นโรงงานได้รับการซ่อมแซมให้มีความปลอดภัยแล้วก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลพนักงานที่ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการแก้ไขความเสียหายในทรัพย์สินและอุปกรณ์ได้อีกทางหนึ่ง
การเลือกผู้ให้บริการซ่อมพื้นโรงงาน
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการซ่อมพื้นโรงงานอยู่มากมายในตลาด การเลือกผู้ให้บริการซ่อมพื้นโรงงานที่ได้มาตรฐานจึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการในการซ่อมพื้นโรงงานของผู้ประกอบการ
ประสบการณ์และความชำนาญ
ผู้ให้บริการซ่อมพื้นโรงงานที่มีประสบการณ์จะสามารถแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพื้นโรงงานได้อย่างตรงจุดและจบงานได้อย่างมีคุณภาพ เนื่องจากมีทักษะและความชำนาญมากกว่า รวมถึงสามารถบริหารจัดการการดำเนินการซ่อมพื้นโรงงานได้อย่างถูกต้องและเป็นขั้นตอน
ความเชื่อถือและรีวิวจากลูกค้า
เลือกผู้ให้บริการซ่อมพื้นโรงงานที่มีรีวิวจากลูกค้าและมีผลงานที่ตรวจสอบได้จริง ผู้ให้บริการซ่อมพื้นโรงงานที่น่าเชื่อถือมักมีความรับผิดชอบต่อผลงานตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบหน้างาน ดำเนินการซ่อมพื้นโรงงาน ไปจนกระทั่งส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ซึ่งสะท้อนผ่านรีวิวจากลูกค้านั่นเอง
ราคาและการรับประกัน
เลือกผู้ให้บริการซ่อมพื้นโรงงานที่นำเสนอราคาซ่อมพื้นโรงงานไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป และควรตรวจสอบเงื่อนไขการรับประกันผลงานอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจใช้บริการ เนื่องจากในกรณีที่พบปัญหาหลังส่งมอบงาน ควรแน่ใจว่าผู้ให้บริการจะยังคงให้ความช่วยเหลือและซ่อมพื้นโรงงานให้ได้คุณภาพตามที่ตกลงไว้ในสัญญา
การตรวจสอบใบอนุญาตและมาตรฐานการทำงาน
เลือกผู้ให้บริการซ่อมพื้นโรงงานที่มีใบอนุญาตและมาตรฐานการทำงาน มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีความชัดเจน และให้ข้อมูลได้อย่างละเอียดในทุกขั้นตอนเพื่อลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการใช้บริการซ่อมพื้นโรงงาน